Hi Phonics

โฟนิคส์คืออะไร

โฟนิคส์คืออะไร

 

โฟนิคส์คือความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวอักษรและเสียงของตัวอักษร และโฟนิคส์ยังเป็นวิธีการสอนอ่านภาษาอังกฤษโดยอาศัยเสียงของตัวอักษรเป็นหลัก (Oxford Dictionary)

โฟนิคส์ ไม่ใช่ โฟเนติค (Phonetics) Phonetics (สัทศาสตร์) เป็นศาสตร์การจัดประเภทของการออกเสียงโดยคำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของการออกเสียง รวมถึงตำแหน่งของอวัยวะที่ทำให้ออกเสียง แน่นอน, โฟนิคส์ใช้พื้นฐานโฟเนติคในการออกเสียงให้ถูกต้อง โฟนิคส์เป็นวิธีสอนให้เด็กอ่านภาษาอังกฤษเองได้

หลักการโฟนิคส์

 

เนื่องจากโฟนิคส์เป็นเรื่องของตัวอักษรและเสียงของตัวอักษรนั้น ตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัวมีชื่อและเสียง เช่น

Aa  มีชื่อว่า’เอ’  และมีเสียงเป็น ‘แอะ’

Bb  มีชื่อว่า’บี’  และมีเสียงเป็น ‘เบอะ’

การอ่านภาษาอังกฤษด้วยวิธีโฟนิคส์เป็นการออกเสียงตัวอักษรในคำและรวบเสียงรวมเป็นคำอ่านออกมา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือการแปลงตัวอักษรให้เป็นเสียงทำให้อ่านออกได้ซึ่งเรียกว่าการถอดรหัสคำ (Decoding) เช่น /b/ /i/ /g/ = big, เบอะ-อิ-เกอะ = บิ๊ก  ในทำนองเดียวกันเมื่อได้ยินคำคำหนึ่งเราสามารถนึกถึงตัวอักษรที่รวมกันเป็นเสียงนั้นและแปลงเสียงเหล่านั้นกลับไปเป็นตัวอักษรทำให้เขียนได้ซึ่งเรียกว่าการเข้ารหัสคำ (Encoding) เช่น ‘cat’ = /c/ /a/ /t/

ความสำคัญของโฟนิคส์

 

จุดมุ่งหมายของการสอนโฟนิคส์คือเพื่อสอนให้ผู้ที่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษว่าตัวอักษรและเสียงตัวอักษรแทนด้วยเสียงพูดเสียงอ่านและเสียงที่ได้ยิน  โฟนิคส์จึงมีความสำคัญมากในการสอนอ่านภาษาอังกฤษให้เด็กสามารถอ่านออกได้เอง

วิธีสอนอ่านภาษาอังกฤษ

 

โดยทั่วไปมี 2 วิธี ดังนี้

1. สอนอ่านแบบจำทั้งคำ (The Whole Word)

การสอนอ่านแบบจำทั้งคำ หรือแบบมองและพูด (Look and Say)

การสอนอ่านแบบจำทั้งคำเป็นการสอนอ่านแบบดั้งเดิม การสอนแบบนี้จะมองว่าคำศัพท์หนึ่งคำเป็นก้อนเดียว ไม่สามารถแบ่งคำเป็นส่วนๆได้ เหมือนคำในภาษาจีนที่ไม่แยกส่วนประกอบของคำ การสอนอ่านแบบจำทั้งคำทำโดยให้ผู้เรียนมองคำศัพท์และพูด (Look and Say) และเพื่อทำให้อ่านได้ต้อง ‘ท่อง’ ให้ ’จำ’ หรืออ่านบ่อยๆ เพื่ออ่านคำศัพท์นั้นให้ได้ เช่น คำว่า ‘can’ มองเป็นก้อนเดียว ให้ผู้เรียนมอง ‘can’ และพูด ‘แคน’

การสอนอ่านแบบจำทั้งคำทำให้การอ่านคำศัพท์ 1 คำให้ได้ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ทำให้การเรียนรู้เป็นไปได้ช้าและจำกัด

2  สอนอ่านแบบออกเสียงตัวอักษรในคำ (Phonics)

 

การสอนอ่านโฟนิคส์ เป็นการสอนที่เกิดขึ้นหลังจากพบว่าการสอนอ่านแบบจำทั้งคำไม่ได้ผล การสอนอ่านแบบโฟนิคส์เห็นว่าคำๆหนึ่งสามารถแยกเป็นส่วนๆได้แบบพยัญชนะต้น-สระ-ตัวสะกด และการประสมเสียงของตัวอักษรในคำจะเป็นคำอ่าน คำว่า ‘can’ สามารถแยกเป็นส่วนๆ ‘c-a-n’ มีเสียงเป็น /k/ /a/ /n/ –> can เคอะ-แอะ-เนอะ = แคน

การสอนอ่านด้วยวิธีโฟนิคส์จึงเป็นหลักการมากกว่าแบบสอนจำทั้งคำ

การสอนโฟนิคส์เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

การสอนแบบดั้งเดิมหรือการสอนอ่านแบบจำทั้งคำทำให้เด็กอ่านเองไม่ได้ ไม่สามารถอ่านคำที่ไม่เคยเจอมาก่อนได้ ประชากรของประเทศมีทักษะการอ่านต่ำทำให้การได้มาซึ่งความรู้ใหม่จำกัดมากขึ้น ทำให้ประเทศพัฒนาได้ไม่ดี ดังนั้น ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เช่น อังกฤษ อเมริกา จึงได้ศึกษาหาวิธีสอนให้เด็กอ่านหนังสือให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ปีพศ. 2493) ประเทศอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตทางการศึกษา  จากการพบปัญหาในระดับชาติว่าเด็กอเมริกันจำนวนมากอ่านหนังสือไม่ออก และพบว่าโรงเรียนใช้วิธีสอนอ่านแบบ ‘Whole Word’ หรือ ‘Look and Say’ มาโดยตลอด

ในช่วงเวลานั้น รูดอล์ฟ เฟลชซ์ (Rudolf Flesch) เฟลชซ์เป็นชาวออสเตรียจบปริญญาเอกด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเวียนนา เขาย้ายไปสหรัฐอเมริกาเพื่อหลีกเลี่ยงการรุกรานของนาซี เฟลชซ์อยู่ที่นิวยอร์คเรียนปริญญาเอกด้านบรรณารักษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขาทำวิทยานิพนธ์ศึกษาปัจจัยที่ทำให้ข้อความอ่านง่ายหรือยากและสร้างสูตรในการตรวจสอบว่าข้อความหนึ่งๆมีความง่ายในการอ่านเท่าใดโดยกำหนดตัวเลขตั้งแต่ 0 ถึง 100  สูตรของเฟลชซ์ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

เฟลชซ์เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ชื่อดังแห่งหนึ่งในยุคนั้น เขาได้อาสาสอนจอห์นนี่เด็กผู้ชายที่ควรอยู่ชั้นมัธยมต้น แต่ถูกให้ตกอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพราะเขาอ่านหนังสือไม่ออก เฟลชซ์ตกใจมากที่พบว่าจอห์นนี่ซึ่งอายุ 12 ปีแล้ว แต่อ่านคำว่า ‘Kid’ ไม่ได้ เฟลชซ์เห็นปัญหาว่าเพราะไม่มีใครสอนวิธีออกเสียงของคำหรือ ‘ถอดรหัส’ ให้กับจอห์นนี่  เมื่อเฟลชซ์แนะนำกฏเกณฑ์การอ่านด้วยการใช้เสียงตัวอักษรให้กับจอห์นนี่ ทำให้จอห์นนี่สามารถอ่านหนังสือได้ และอ่านคล่องขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด

เฟลชซ์ ได้เล่าเหตุการณ์นี้ในบทความหนึ่งของหนังสือพิมพ์ สิ่งที่เขาสอนจอห์นนี่กลายเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองให้ความสนใจมากเพราะลูกๆมีปัญหาเดียวกับจอห์นนี่ 

ในปี 2498 เฟลชซ์ เขียนหนังสือ ‘Why Johny can’t read?: And what you can do about it.’ (ทำไมจอห์นนี่อ่านหนังสือไม่ออก? และคุณควรทำอะไรเกี่ยวกับสิ่งนี้) เฟลชซ์ วิจารณ์อย่างเข้มข้นถึงการสอนอ่านแบบเดิม (แบบจำทั้งคำ) ที่ใช้ในทุกโรงเรียนว่าเป็นระบบการสอนคำแบบตัวหนังสือภาษาจีน (Chinese word-learning system) ที่ใช้หลักการจำเท่านั้น ไม่สามารถทำให้เด็กอ่านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นคำที่ประกอบด้วยตัวอักษรที่มีเสียงอยู่ในตัว (Phonetic language) เฟลชซ์ ได้ออกแบบการสอนอ่านโดยใช้เสียงของตัวอักษรเป็นหลัก ซึ่งต่อมาเรียกว่า Phonics  มีครูบางคนนำไปสอนในชั้นเรียน และผู้ปกครองหลายคนใช้สอนกับลูกของตน ผลการสอนชี้ว่าเด็กสามารถอ่านได้ดี 

หนังสือ ‘Why Johny can’t read’ ถือเป็นชนวนสำคัญในการปฏิรูปวิธีสอนอ่านภาษาอังกฤษ สังคมเกิดข้อคิดเหมือนและข้อคิดต่างมากมายตั้งแต่กลุ่มนักวิชาการจนถึงระดับผู้ปกครอง มีความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนเป็นจำนวนมาก รวมถึงความขัดแย้งระหว่างผู้สอนที่บ้างเห็นว่าแบบดั้งเดิมดีแล้ว บ้างต้องการเปลี่ยนแต่ผู้บริหารยังไม่เห็นด้วย

ในปี 2510 จีน ชอล์ (Jeane Chall) หัวหน้าห้องปฏิบัติการอ่านของมหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ได้ตีพิมพ์หนังสือ ‘Learning to read: The Great Debate’ (การเรียนวิธีอ่าน: การโต้แย้งที่ยิ่งใหญ่) ชอลไม่ได้วิจารณ์ที่สอนแบบวิธีเดิม แต่เล่าเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของการวิจัยการสอนโฟนิคส์มากมายซึ่งมีผลทำให้เด็กอ่านหนังสือออกได้อย่างมีนัยสำคัญ  ซึ่งมีผลทำให้รัฐบาลอเมริกาต้องตระหนักถึงวิธีที่ใช้ในการสอนอ่านในโรงเรียนรัฐบาลอย่างจริงจัง

ท้ายที่สุด ในปีพศ. 2543 คณะการอ่านแห่งชาติอเมริกา (National Reading Panel) หลังจากที่ได้ทบทวนการวิจัยเกี่ยวกับวิธีการสอนอ่านทั้งหลาย มีรายงานออกมาว่า การสอนอ่านแบบโฟนิคส์ที่เป็นระบบให้กับเด็กที่เริ่มเรียนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้เด็กสามารถอ่านออกได้ นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้การสอนโฟนิคส์เป็นนโยบายแห่งชาติ

ข้อดีของการเรียนโฟนิคส์

 

โฟนิคส์เป็นเสมือนหลักวิธีอ่านภาษาอังกฤษทำให้ผู้เรียนอ่านภาษาอังกฤษได้เอง  การสอนอ่านแบบจำทั้งคำเหมือนการเอาปลามาให้เด็กกิน ส่วนการสอนโฟนิคส์เหมือนการสอนวิธีจับปลา เมื่อเด็กรู้ ‘วิธี – how to’ แล้ว เมื่อเขาเจอ ‘ปลา’ ที่ไหนก้อสามารถจับได้ ซึ่งแน่นอนว่าการสอนแบบหลังใช้เวลามากกว่าแต่ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

ในการเรียนโฟนิคส์อาจใช้เวลาในระดับหนึ่งในการทำความรู้จักกับเสียงของตัวอักษรต่างๆ ซึ่งเป็นขั้นการเตรียมพื้นฐานในการอ่าน ดังนั้นเราอาจจะยังไม่เห็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงแรก แต่หากได้มีการเรียนแบบต่อเนื่องสักพัก หลังจากนี้ผู้เรียนสามารถอ่านเองได้อย่างมั่นใจ ผลจากการเรียนโฟนิคส์มีดังนี้

1  รู้วิธีอ่านคำที่ไม่คุ้นเคยได้ เพราะหลักโฟนิคส์จะช่วยการประสมคำและอ่านได้

2 สะกดคำได้ดีขึ้นทำให้เขียนถูกต้องมากขึ้น

3 ผู้เรียนโฟนิคส์มีแนวโน้มในการอ่านคล่องขึ้น

4 พัฒนาความเข้าใจในเนื้อหาที่อ่านได้มากขึ้น นี่คือเป้าหมายท้ายสุดของการอ่าน ดังนั้นโฟนิคส์เป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นขาดไม่ได้

ข้อจำกัดของโฟนิคส์

 

โฟนิคส์เป็นวิธีอ่านภาษาอังกฤษ แต่ไม่ใช่ทุกคำที่สามารถอ่านด้วยกฏของโฟนิคส์ได้ คำเหล่านั้นอาจเป็น Sight words  เช่น was, what หรือคำภาษาอังกฤษที่เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอื่นหรือเป็นภาษาอังกฤษแบบเก่า การอ่านด้วยวิธีโฟนิคส์จึงใช้ไม่ได้ เช่น restaurant, suite ดังนั้นบางคำต้องใช้วิธีอ่านแบบจำทั้งคำควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายท้ายสุดของการอ่านคือเข้าใจเนื้อหาที่อ่านได้อย่างถูกต้อง ในการที่จะเป็นผู้อ่าน (ภาษาอังกฤษ) ที่ดี (Good Reader) คณะการอ่านแห่งชาติของอเมริกา (The National Reading Panel, 2543) ได้รายงานการวิจัยเรื่องการสอนให้เด็กอ่าน(ภาษาอังกฤษ) ว่าวิธีสอนอ่านอย่างมีประสิทธิภาพในชั้นเรียน เด็กต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องดังต่อไปนี้

  • การรู้จักเสียง (Phonemes Awareness)
  • ทักษะการประสมเสียง (Phonics โฟนิกส์) สามารถถอดรหัสคำ (Decoding) สะกดคำ (Spelling)
  • ความสามารถการอ่านอย่างถูกต้องและคล่อง (Accuracy and Fluency)
  • คำศัพท์ (Vocabulary)
  • ความสามารถในการประยุกต์กลยุทธ์ต่างๆเพื่อให้เกิดความเข้าใจความเข้าใจ (Comprehension) ในสิ่งที่อ่าน

สอนโฟนิคส์อย่างไรให้ได้ผล

 

แม้ว่าการวิจัยโฟนิคส์มากมาย หรือผลจากการเรียนโฟนิคส์ชี้ชัดว่าเป็นการสอนโฟนิคส์เป็นวิธีอ่านภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ยังมีภาวะ ‘Why Johny still can’t read?’ เพราะอะไร  เฟลชซ์ได้วิเคราะห์ถึงการที่โรงเรียนไม่ได้สอนโฟนิคส์ว่าเป็นเพราะโรงเรียนไม่ใส่ใจ หรือทางโรงเรียนมี ‘something’ กับสำนักพิมพ์ในการซื้อแบบเรียน

แล้ว ‘Why Johny still can’t read?’ (เด็กที่ได้รับการสอนโฟนิคส์แล้วแต่ยังอ่านภาษาอังกฤษเองไม่ได้) ในประเทศไทยเป็นอย่างไร 

จากกระแสผลการวิจัยโฟนิคส์ที่ทำให้เด็กอ่านภาษาอังกฤษออก มีเหตุการณ์หลัก 2 อย่างเกิดขึ้น

  1. แบบเรียนภาษาอังกฤษยุคใหม่มีบทเรียนโฟนิคส์บางส่วนแทรกเข้าไปในแบบเรียนภาษาอังกฤษหลัก ผู้สอนได้สอนโฟนิคส์ไปตามแบบเรียนและถือว่าได้สอนโฟนิคส์แล้ว แต่อาจไม่ได้ตระหนักถึงการสอนโฟนิคส์เสริมแต่สำคัญมากนี้มีเวลาและการฝึกไม่มากพอที่จะทำให้เด็กเข้าใจและรู้วิธี ‘ถอดรหัส’เองได้
  2. ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษได้รับการอบรมเกี่ยวกับโฟนิคส์มากขึ้น ผู้สอนได้รับความรู้ความเข้าใจในการสอนโฟนิคส์มากขึ้น แต่ในการสอนจริง ผู้สอนอาจต้องเตรียมหา จัดทำสื่อการสอนเอง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้มีสื่อเพื่อถ่ายทอดวิชา’ถอดรหัส’คำให้กับเด็ก

การวิจัยใหม่พบว่าการสอนโฟนิคส์ที่ทำให้เด็กสามารถ ‘ถอดรหัส’ คำได้มีลักษณะดังนี้

  • สอนอย่างเป็นระบบ
  • สอนครบทุกเสียง
  • ต้องสอนโฟนิคส์แยกต่างหาก เพื่อให้เวลาที่เด็กได้เรียนรู้และฝึก จนสามารถเห็นรูปแบบของส่วนประกอบในคำแต่ละคำเป็น พยัญชนะต้น-สระ-ตัวสะกด 

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!